ประวัติภาควิชา

 ชื่อหลักสูตร : การบัญชีบัณฑิต
  Bachelor's Degree Program in Accounting
 ชื่อปริญญา : บัญชีบัณฑิต (บช.บ.)
  Bachelor of Accounting


 ประวัติภาควิชา

  • ปี พ.ศ. 2478 วิชาการบัญชีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ และมีหลวงดำริอิศรานุวรรตน์เป็นผู้สอน ในสมัยนั้นการบัญชียังไม่แพร่หลาย ยังมิได้มีการบันทึกบัญชีเป็นกิจจะลักษณะ ผู้มีความรู้ทางบัญชีจริง ๆ มีน้อยมากเพียง 3-4 คนเท่านั้น และหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้มีบทบาทในการก่อตั้ง และพัฒนาวิชาการบัญชี ซึ่งก็คือ หลวงดำริอิศรานุวรรตน์ โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มให้มีกฎหมายรับรองการจัดตั้งสภาบัญชีขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิชาชีพสอบบัญชี และเพื่อเป็นองค์การให้รัฐบาลในการดำเนินการทดสอบความชำนาญงานทางบัญชี เพื่อออกประกาศนียบัตรวิชาชีพรับรองว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการบัญชีดีพอ ที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอิสระได้ 

  • แต่เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะจัดตั้งสภาบัญชี เนื่องจากมีผู้ที่มีความรู้ทางบัญชีน้อยมาก จึงเห็นว่าควรจะส่งเสริมในการให้วิชาความรู้ทางการบัญชี เพื่อให้แพร่หลายดังนั้นหลวงดำริอิศรานุวรรตน์ จึงได้ขอให้รัฐบาลรับนโยบายอนุมัติ ให้มีการศึกษาวิชาการบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยระยะแรกได้ก่อตั้ง "แผนกวิชาการบัญชี" เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2481 วิชาการบัญชีที่เปิดสอนแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ หลักสูตร 3 ปี และหลักสูตร 5 ปี ผู้ที่สำเร็จการศึกษาปีที่ 3 จะได้รับประกาศนียบัตรทางการบัญชีซึ่งเทียบเท่าปริญญาตรี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาปีที่ 5 จะได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชีเทียบเท่าปริญญาโท

  • ปี พ.ศ. 2492 ได้ยกฐานะจาก "แผนกวิชาการบัญชี" เป็น "คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี" มีการเพิ่มแผนกพาณิชยศาสตร์ ซึ่งมีหลักสูตรการศึกษา 4 ปี สำหรับแผนกการบัญชียังคงจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเดิม คือ แบ่งเป็นประกาศนียบัตรทางการบัญชี 3 ปี และ 5 ปี

  • ปี พ.ศ. 2499 ได้ยกเลิกการศึกษาแบบประกาศนียบัตรและจัดหลักสูตรการศึกษาใหม่เป็นแบบปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ทั้งแผนกการบัญชีและการพาณิชย์

  • ปี พ.ศ. 2513 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรระดับปริญญาตรีจากการศึกษาระบบเดิมมาเป็นการศึกษาระบบหน่วยกิต

  • ปี พ.ศ. 2518 ได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรี ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของคณะฯ

  • ปี พ.ศ. 2533 มีการปรับปรุงหลักสูตร พ.ศ. 2526 จาก "หลักสูตรการบัญชีบัณฑิตและพาณิชยศาสตร์" เป็น หลักสูตร พ.ศ. 2533 "หลักสูตรบัญชีบัณฑิตและบริหารธุรกิจบัณฑิต" และชื่อปริญญาด้านการบัญชี คือ บัญชีบัณฑิต (บช.บ.) ทั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี แยกเป็น 2 สาย คือ สายบัญชี และสายบริหารธุรกิจ

  • ปี พ.ศ. 2540 มีการปรับปรุงหลักสูตร ฉบับ พ.ศ. 2533 เป็นหลักสูตร ฉบับ พ.ศ. 2540 และในวันที่ 17 เมษายน 2540 ทบวงมหาวิทยาลัยได้ประกาศเรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2540 จัดตั้งภาควิชาในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จำนวน 4 ภาควิชา ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศเรื่องดังกล่าวข้างต้นในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 225 ตอนที่ 32 ง. วันที่ 22 เมษายน 2540 รวม 4 ภาควิชา ดังนี้
    1. ภาควิชาการเงินและการธนาคาร
    2. ภาควิชาการตลาด
    3. ภาควิชาการบัญชี
    4. ภาควิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ

  • ปี พ.ศ. 2543 เปิดเพิ่มสาขาวิชาใหม่ระดับปริญญาโท ดังนี้ ระดับปริญญาโท สาขาวิชาบัญชี (สำหรับอาจารย์ผู้สอนวิชาบัญชีระดับอุดมศึกษา)

  • ปี พ.ศ. 2546 ปรับปรุงหลักสูตรด้านการบัญชี โดยปรับปรุงโครงการปริญญาโททางการบัญชี โครงการปริญญาโททางวิชาชีพการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ และโครงการปริญญาโททางการบัญชี สำหรับอาจารย์ผู้สอนวิชาบัญชีระดับ อุดมศึกษา โดยจัดทำเป็นโครงการใหม่ชื่อว่า "โครงการปริญญาโททางการบัญชี" จัดการเรียนการสอนเป็น 2 ภาษา (Bilingual)


และสืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยได้มีบันทึกฉบับลงวันที่ 22 ธันวาคม 2547 ที่ ศธ 0516.13/4969 เรื่องแนวทางการขยายปริญญาตรีไปศูนย์รังสิตของคณะฯ พร้อมให้คณะฯ กำหนดแผนการใช้พื้นที่ ท่าพระจันทร์ในทางวิชาการ คณะฯ จึงได้วางแผนการใช้พื้นที่ท่าพระจันทร์และหนึ่งในแผนนั้น คือ การเปิดหลักสูตรใหม่ ตรี - โท ระยะเวลาศึกษา 5 ปี - หลักสูตรควบบัญชีบัณฑิตและมหาบัณฑิต (บูรณการ) มีสาขาวิชาการบัญชี 1 สาขาวิชา หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรควบตรี - โท ที่ออกแบบมาเพื่อลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชาการที่แยกตามสาขาวิชา ทำให้มีระยะเวลาศึกษาปกติตามหลักสูตรประมาณ 5 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถในการคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยสามารถที่จะพัฒนาการเรียนรู้ต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีมีความรู้รอบมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง มีวิธีคิดและเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกของการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น และคล่องตัวในหน้าที่การงานและอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่การศึกษาในระดับปริญญาโทมุ่งให้เกิดความรู้สึกในศาสตร์เฉพาะด้านของการจัดการธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกไปรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่งานเฉพาะด้านในระดับกลาง-สูงในองค์การประเภทต่างๆ ทั้งนี้ หลักสูตรให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในห้องเรียน ควบคู่ไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ภาคปฏิบัติในโลกการทำงานจริงของทั้งภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน

back to top



 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

มุ่งหมายให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงความสำคัญและบทบาทของการบัญชีในการให้ข้อมูล เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงแนวความคิดเกี่ยวกับ การวิเคราะห์และการบันทึกรายการค้า และจัดทำรายงานเพื่อเสนอข้อมูลบัญชี ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กรนั้น เช่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้ให้สินเชื่อ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจหรือควบคุมกำกับดูแล ดังนั้น การบัญชีจึงเปรียบเสมือนภาษาสากลของโลกธุรกิจ หรือ “Business Language” ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกด้านจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ

back to top



  จุดเด่นของภาควิชา

ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในการผลิตบัญชีบัณฑิตชั้นนำของประเทศ ที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรมออกไปรับใช้สังคมไทยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และจะทำหน้าที่นี้ตลอดไป

back to top



  คุณสมบัติของนักศึกษาที่เข้าเรียน

- มีความสามารถในการทำงานอย่างเป็นระบบ 
- มีความคิดที่เป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล 
- มีมนุษย์สัมพันธ์ดี 
- มีความสนใจที่จะเรียนรู้และใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร 
- มีความสนใจในเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ 
- มีความสามารถในการนำเสนอที่ดี 
- มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

back to top



  ลักษณะงานของบัณฑิต

ภาควิชาการบัญชีได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ วิชาชีพบัญชีมีงานที่มีลักษณะหลากหลาย ดังเช่น งานตรวจสอบความน่าเชื่อถือของงบการเงิน และการปฏิบัติงานของธุรกิจ งานจัดทำข้อมูลบัญชี และวางแผนภาษีอากร และงานให้คำปรึกษาทางด้านการบัญชี ตลอดจนงานวิเคราะห์งบการเงิน และ/หรือวิเคราะห์หลักทรัพย์ 

จากผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารระดับสูงสุดของธุรกิจร้อยละ 75 มาจากสายการบัญชี ดังนั้นภาควิชาการบัญชีมีความมั่นใจว่าสามารถสร้างท่านให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดทางด้านธุรกิจ 

back to top



  การประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษา

วิชาการบัญชีเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนบุคลากรด้านนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลกรบัญชีที่มีคุณภาพ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางการบัญชีสามารถประกอบอาชีพทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น สมุห์บัญชี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่ปรึกษาด้านการบัญชีและวางแผนภาษีอากร หรือด้านการลงทุน หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น การมีสำนักงานรับทำบัญชี และตรวจสอบบัญชี นอกจากนี้ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางการบัญชีสามารถโยกย้ายไปรับตำแหน่งในฝ่ายอื่น ๆ ได้เกือบทุกสายงานธุรกิจ เช่น การเงิน การตลาด การบริหารบุคคล การจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ฯลฯ ดังนั้น ไม่ว่าเป้าหมายระยะยาวของท่านจะเป็นอย่างไร การบัญชีน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับท่าน

back to top